ส่งออกไทยปี 68 ไม่ง่าย! เตรียมรับแรงกระแทกสงครามการค้า คาดโต 2-2.5%

27 ธันวาคม 2567
ส่งออกไทยปี 68 ไม่ง่าย! เตรียมรับแรงกระแทกสงครามการค้า คาดโต 2-2.5%

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า ในปี 2568 อาจไม่ง่ายสำหรับภาคส่งออกไทย จากแรงกดดันภายนอกประเทศที่ท้าทายขึ้น โดยประเมินว่ามูลค่าส่งออกสินค้าไทยจะขยายตัวได้ราว 2% (ตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน) ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งเทียบการเติบโตของการส่งออกในปี 67

ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมแนวทางเจรจา/ต่อรองกับสหรัฐฯ เพื่อหาวิธีลดความเสี่ยงต่อนโยบายภาษีนำเข้า Trump 2.0 ในช่วงปี 2568 โดยเฉพาะประเด็นการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการผลิต และภาคส่งออกไทย ตั้งแต่ก่อนสงครามการค้ารอบใหม่จะเริ่มมีผลชัดเจนขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี

* ส่งออกไทยปี 68 อาจไม่ง่าย ผลกระทบสงครามการค้าจะเริ่มเห็นชัด H2

แม้การส่งออกของไทย จะขยายตัวดีในช่วงท้ายปี 2567 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปช่วงต้นปี 2568 แต่การส่งออกของไทยระยะต่อไป จะเริ่มเจอแรงกดดันจากนโยบายกีดกันการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ที่มาตรการกีดกันการค้าประเทศต่าง ๆ นอกจากจีนจะเริ่มมีผลบังคับใช้ โดยประเมินว่าประเทศไทยเสี่ยงสูงที่จะเจอนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าจาก Trump 2.0 เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบผ่านช่องทางการค้าเป็นหลัก สะท้อนจาก

  1. สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นเทียบช่วงทรัมป์ 1.0 : แม้สหรัฐฯ จะขาดดุลการค้ากับไทยมานานต่อเนื่อง แต่การขาดดุลยิ่งสูงขึ้นก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 64 โดยมูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก -2.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2560-2563 (Trump 1.0) เป็น -4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 ซึ่งไทยจัดเป็นประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อันดับ 12 จาก 99 ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ในปี 2566
  2. หลายงานศึกษาประเมินว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจาก Trump 2.0 มาก สะท้อนจาก Trump Risk Index สูง และอาจติดเกณฑ์ประเทศเข้าข่าย "Unfair Trade" กับสหรัฐฯ : จากผลศึกษาของ Information Technology and Innovation Foundation (ITIF) พบว่าประเทศไทยมีคะแนน Trump Risk Index ติดอันดับ 2 ของโลก รองจากเม็กซิโก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชียจาก 38 ประเทศพันธมิตรทั้งหมดของสหรัฐฯ สอดคล้องกับผลศึกษา Unfair Trade ของ Global Trade Alert (Nov 2024) ที่พบว่า ประเทศไทยจะติด 3 ใน 5 เกณฑ์ หากพิจารณาเกณฑ์เดียวกับที่ Trump 1.0 เคยใช้มาก่อน โดยไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ที่จะติดเกณฑ์นี้
  3. สินค้าส่งออกสำคัญของไทยมีความเสี่ยงถูกตั้งกำแพงภาษีจากนโยบาย Trump 2.0 : SCB EIC ประเมินว่ากว่า 70% ของสินค้าส่งออกหลักของไทยเป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้ากับโลก และต้องการส่งเสริม Local supply chain อาทิ สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้นโยบายจาก Trump 2.0 มีแนวโน้มจะกระทบภาคส่งออกไทยทั้งทางตรง และทางอ้อม

ผลกระทบทางตรง (Direct impacts) : สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย (17% ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด) และไทยยังสร้างมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ค่อนข้างสูง (รูปที่ 5 ซ้าย) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกไทยโดยตรง จากนโยบายภาษีสินค้านำเข้า Trump 2.0 อย่างไรก็ดี ผลกระทบอาจจำกัดในบางกลุ่มสินค้า เนื่องจากสหรัฐฯ ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าบางชนิดจากไทย เนื่องจากผลิตในประเทศไม่พอความต้องการ

ผลกระทบทางอ้อม (Indirect impacts) : ความต้องการสินค้าขั้นกลางที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อผลิตเป็นสินค้าขั้นปลายอาจชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขั้นปลายที่จีนส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และปัญหาจีนผลิตล้นตลาด (China?s overcapacity) มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน (รูปที่ 6 ขวา) จะกดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทย ทั้งตลาดในและนอกประเทศ ส่งผลให้การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว ซ้ำเติมภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัว

ขณะที่ในปี 2567 มูลค่าการส่งออกไทย ขยายตัวสูงต่อเนื่องช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ทั้งปี มีโอกาสขยายตัวสูงกว่า 4% แม้ที่ผ่านมาส่งออกไทยจะเผชิญอุปสรรคตั้งแต่ต้นปี จากเศรษฐกิจโลกที่คาดการณ์ว่าจะชะลอลง และอุปสรรคการขนส่งทางเรือในโลกหลายที่ แต่ส่งออกไทยกลับได้แรงหนุนจากหลายปัจจัยบวกที่ชัดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เช่น เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว Soft landing ได้ การส่งออกทองคำสูงขึ้นมาก อานิสงส์วัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปสงค์ต่างประเทศเริ่มเร่งตัวจากความกังวลประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่อาจเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มในปี 2568

ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ขยายตัวมากถึง 5.2% จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ตัวเลขการส่งออกของไทยทั้งปี 2567 อาจจะออกมาขยายตัวเกิน 4% สูงกว่าที่ SCB EIC และกระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.9% และ 4% ตามลำดับ

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2568 การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 2.5% ชะลอตัวลงจากปีนี้ จากปัจจัยลบสำคัญ คือ สงครามการค้ารอบใหม่ และ โครงสร้างการส่งออกไทยที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการตลาดโลก

  1. สงครามการค้ารอบใหม่

คาดว่าต้นปี 2568 จะเห็นความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งไทยมีความเสี่ยงอาจเป็นหนึ่งในประเทศที่อาจถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้น เนื่องจากไทยได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ ในระดับสูง และมีการย้ายฐานการผลิตสินค้าจีนมายังไทยเพิ่มขึ้นในช่วงสงครามการค้าครั้งแรก

โดยผลกระทบของสงครามการค้ารอบใหม่ ต่อการส่งออกไทยในตลาดต่าง ๆ แบ่งเป็น

ทางตรง (ผลกระทบโดยตรงจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทย) ผลต่อตลาดสหรัฐ คิดเป็น 18% ของการส่งออกไทยทั้งหมด โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากสุด คือ กลุ่มที่ได้รับอานิงส์จากการที่จีนเข้ามาลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตในไทย ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โซลาร์เซลล์ เครื่องประดับ และยางรถยนต์

ทางอ้อม (ผลกระทบทางอ้อมจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน) ผลต่อตลาดโลก ยกเว้น สหรัฐฯ และจีน คิดเป็น 70% ของการส่งออกไทยทั้งหมด โดยสินค้าไทยอาจเผชิญกับการแข่งขันสูงขึ้นของสินค้าจีนที่เปลี่ยนทิศมาจากสหรัฐฯ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก และเสื้อผ้า และผลต่อตลาดจีน คิดเป็น 12% โดยสินค้าคาดว่าจะได้รับผลกระทบ คือ สินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีน เช่น ยาง พลาสติก เคมีภัณฑ์ อะลูมิเนียม

  1. โครงสร้างการส่งออกไทยที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการตลาดโลก

โดยการส่งออกไทย มีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยจำเป็นต้องผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดโลกมากขึ้น เช่น SDD เซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงไทยต้องปรับตัวให้ทันตามกฎระเบียบของตลาดโลกที่มีมากขึ้น อาทิ การเตรียมตัวเข้าสู่ระยะบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบในปี 2569

นอกจากนี้ สำหรับในปี 2568 ยังต้องติดตามผลการเจรจาและการลงนามในความตกลงทางการค้า FTA ซึ่งจะช่วยหนุนความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยให้สามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ ๆ ได้มากขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการขอใช้สิทธิ FTA เพิ่มขึ้น 2.11%


แหล่งที่มา : Ryt9

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.